• รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ
    • วิจัย และพัฒนา
    • ธุรกิจเพื่อสังคม
    • บริการเพื่อสังคม
  • Login Form
    • ลืมรหัสผ่าน?
    • ลืมชื่อผู้ใช้?
    • สมัครสมาชิก

โครงการ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นฝึกอบรมการทำลูกประคบสมุนไพร ปี2558

Created
วันจันทร์, 16 พฤศจิกายน 2558
Hits
5096 views
Created by
โครงการพัฒนาป่าชุมชน บ้านอ่างเอ็ด

การดำเนินงาน

โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) ตำบลตกพรม  อำเภอขลุง  จังหวัดจันทบุรี มีการศึกษาเกี่ยวกับพืช ผัก สมุนไพร เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ของพืชผักแต่ละชนิด  ซึ่งความรู้ที่ได้จากการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ทราบว่าพืช ผัก สมุนไพรนั้น นอกจากรับประทานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง
ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรทำสวนผลไม้ โดยใช้แรงงานเป็นหลัก จึงส่งผลให้มีปัญหาปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ โครงการ ฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญโดยการให้ประชาชนรู้วิธีการรักษาอาการปวดเมื่อยด้วยตนเอง โดยการนำสมุนไพรที่หาได้ง่ายและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย มานวดประคบสมุนไพรช่วยลดอาการปวด บวมเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี และยังช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายจากกลิ่นหอมของสมุนไพรอีกด้วย เป็นการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของการทำลูกประคบได้อีกด้วย
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตกพรม พร้อมทั้งคณะครูจากโรงเรียนวัดตกพรมได้นำนักเรียนจำนวน 35 คน เข้ามาฝึกอบรมโครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นฝึกอบรมการทำลูกประคบสมุนไพร ณ โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ( มูลนิธิชัยพัฒนา )
นักเรียนจากโรงเรียนวัดตกพรม เริ่มลงทะเบียนโครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นฝึกอบรมการทำลูกประคบสมุนไพร
เริ่มฟังการบรรยายการทำลูกประคบสมุนไพรจาก นางสาวปวีณา  เรียเต็ม เจ้าพนักงานสาธารณสุข (นักการแพทย์แผนไทย) จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อเวฬุ  ตำบลบ่อเวฬุ  อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ซึ่งระหว่างการฟังบรรยายวิทยากร จะมีคำถามเกี่ยวกับส่วนประกอบที่ใช้ในการทำของลูกประคบสมุนไพรให้นักเรียนตอบเพื่อรับของรางวัล เป็นการให้ความรู้ และความสนุกสนานกับนักเรียนได้เป็นอย่าง
ลูกประคบสมุนไพร 1 ลูก มีขนาด 500 กรัม วัตถุดิบที่ใช้ในการทำมีส่วนประกอบ ดังนี้
1.ไพล มีสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยเคล็ด ขัดยอก ลดการอักเสบ  ( 200 กรัม )
2.ขมิ้นชัน หรือขมิ้นอ้อย มีสรรพคุณ ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง ( 200 กรัม )
3.ตะไคร้  มีสรรพคุณ แต่งกลิ่น ( 100 กรัม )
4.ผิวมะกรูด หรือใบมะกรูด มีสรรพคุณ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน ( 50 กรัม )
5.ใบส้มป่อย  มีสรรพคุณ  ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน ( 100 กรัม )
6.เกลือ มีสรรพคุณ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น ( 1 ข้อนโต๊ะ )
7.การบูร มีสรรพคุณ แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ  ( 2 ช้อนโต๊ะ )
8.พิมเสน มีสรรพคุณ แต่งกลิ่น แก้วิงเวียน  ( 2 ช้อนโต๊ะ )
9.ผ้าดิบ  ขนาด 40 × 40 ซม. หรือ 50 × 50 ซม. สำหรับห่อลูกประคบสมุนไพร
10.เชือก หรือหนังยาง สำหรับมัด และตกแต่ง
11.เครื่องชั่ง
12.มีด
13.เขียง
14.หม้อนึ่ง
15.กะละมัง
16.กรรไกร
17.เตาถ่าน
18.ทัพพี
19.ครก,สาก 
 เมื่อวิทยากรบรรยายสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดจบ นักเรียนเริ่มลงมือปฏิบัติจริง วิทยากรแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่มๆละเท่าๆ กัน ส่งตัวแทนรับวัสดุอุปกรณ์ เช่น มีด เขียง และสมุนไพร
ขั้นตอนและวิธีการทำลูกประคบสมุนไพร มีดังนี้
1.นักเรียนช่วยกันนำหัวไพล ขมิ้น ตะไคร้ และใบมะกรูดมาล้างทำความสะอาด นำหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งระหว่างที่นักเรียนหั่นสมุนไพรจะมีวิทยากรและเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ ฯ คอยให้คำแนะนำ
2.เมื่อหั่นสมุนไพรเรียบร้อยแล้ว นำสมุนไพรมาตำพอหยาบๆ (ไม่ควรตำให้ละเอียดมากเกินไปเพราะจะทำให้น้ำจากสมุนไพรออกมามาก) จากนั้นนำสมุนไพรใส่ลงไปในกะละมัง หรือถาดที่เตรียมไว้
3.นำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมกับสมุนไพรในข้อที่ 1 คือมีหัวไพล ขมิ้น ตะไคร้ ใบมะกรูด เสร็จแล้วใส่เกลือ การบูร คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ
4.แบ่งสมุนไพรที่คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้ว เป็นส่วนๆเท่าๆกัน ซึ่งลูกประคบมีขนาด 500 กรัม หรือครึ่งกิโลกรัม ซึ่งนักเรียนช่วยกันชั่งสมุนไพรคนละ 500 กรัม โดยใช้ผ้าดิบที่เตรียมไว้ห่อเป็นลูกประคบ
5.เมื่อนักเรียนชั่งสมุนไพรห่อในผ้าดิบได้ตามขนาดที่ต้องการแล้ว วิทยากรสอนวิธีการมัดลูกประคบโดยการใช้เชือก หรือยางเพื่อตกแต่งลูกประคบให้มีรูปแบบกลมมน สวยงาม
 วิทยากรสอนวิธีการนวดโดยใช้ลูกประคบสมุนไพรเป็นการนวดแบบราชสำนักให้กับนักเรียน เริ่มจากการนำลูกประคบไปนึ่งเป็นเวลา 15 – 20 นาที
 วิทยากรให้นักเรียนส่งตัวแทนมาเป็นหุ่นสำหรับสอนวิธีการนวด เมื่อลูกประคบร้อนได้ที่แล้ว ก่อนนำมาใช้ประคบควรมีการทดสอบความร้อนโดยการแตะที่ท้องแขนหรือหลังมือก่อน ในช่วงแรกที่ลูกประคบยังร้อนอยู่ ต้องประคบด้วยความเร็ว ไม่วางลูกประคบไว้บนผิวหนังนาน ๆ เพียงแตะลูกประคบแล้วยกขึ้น แต่เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงสามารถวางลูก ประคบได้นานขึ้นพร้อมกับกดคลึงจนกว่าลูกประคบคลายความร้อน แล้วจึงเปลี่ยนลูกประคบไปใช้ลูกใหม่แทน (ใช้แล้วนำไปนึ่งแทน) เริ่มต้นนวดที่บริเวณขา แขน หลัง และคอ จากนั้นวิทยากรให้นักเรียนนวดเพื่อน นักเรียนต่างสนุกสนานกับการได้นวดเพื่อนๆ ด้วยตนเอง
นักเรียนมอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากร จากนั้นเป็นพิธีรับมอบเกียรติบัตรการทำลูกประคบสมุนไพรให้แก่นักเรียน และกล่าวปิดการอบรม

 

ผลตอบแทน/ประโยชน์ที่ได้รับ

เยาวชนได้รับความรู้เรื่องสรรพคุณด้านสมุนไพร และตระหนักถึงคุณค่าของพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ด้านการนำมาเป็นยารักษาโรค และนำมาเพื่อการบริโภคพืชสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย รวมทั้งยังนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังสามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนและครัวเรือนได้อีกต่อไป

แนวทางการดำเนินงานต่อไป

ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดให้แก่สถานศึกษาและเยาวชนในรุ่นต่อๆไป

Content Lists Filter

ค้นหา / การกรอง
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ